วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สมเด็จพระสังฆราช ครูคนแรกของข้าพเจ้าในทางพระศาสนา


ในตำนานนั้นกล่าวว่า

ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง

ชื่อว่า  "หลักการทำสมาธิเบื้องต้น"

เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช  (เจริญ สุวฑฺฒโน)

เหตุที่ต้องระบุพระนามเดิมเอาไว้ก็เนื่องมาแต่ว่า

หากกาลเวลาผ่านไปนานเข้า

จะเกิดความสับสนเรื่องพระนาม



พูดถึงเรื่องพระนามของสมเด็จพระสังฆราชนี้

นับเป็นเรื่องใหญ่

และมีรายละเอียดยิบย่อยมากมาย

ณ  ที่นี้จะเล่าแต่พอคร่าว ๆ  ว่า

สมเด็จพระญาณสังวร  นี้  เป็นพระนามที่แปลกไปจากธรรมเนียมโบราณ

เพราะในโบราณนั้น  พระสังฆราชที่จะได้ใช้ราชทินนามเดิม

ต้องเป็นเจ้าเท่านั้น

อย่างเช่น  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  เป็นต้น

คำว่า  "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า"  นี้เป็นธรรมเนียมที่  ร.๖ ทรงกำหนดขึ้นใหม่

ว่าหากเป็นพระสังฆราชที่เป็นเจ้า  ให้ใช้คำว่า  พระมหาสมณเจ้า  นำหน้า

กระนั้นก็ดี  ในสมัยรัชการที่ ๖  เองก็มี

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

(สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์)

ซึ่งจุดนี้ข้าพเจ้าก็ไม่เข้าใจว่า  ทำไมไม่ใช้  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า

แต่ใช้ว่า  "สมเด็จพระสังฆราชเจ้า"  แทน

อย่าง  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์  พอจะเข้าใจได้ว่า

ไม่ใช่เจ้านายชั้นสูง

เพราะ  "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า"  นั้นล้วนแล้วแต่เป็นเจ้านายชั้นสูง

และทรงคุณในทางพระศาสนาทั้งสิ้น

หรืออาจจะเป็นได้ว่า

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าแต่ครั้งก่อน

ยังไม่ได้อยู่ในข้อกำหนดนี้  ซึ่งกำหนดขึ้นมาใหม่

จึงให้เป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า

แต่องค์หลัง ๆ  อาจจะรู้สึกว่าท่านเหล่านั้นยิ่งใหญ่

จึงไม่เหมาะที่จะใช้คำว่า  "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า"



ในกรณีมีกำเนิดจากสามัญชนนั้น  สมเด็จพระสังฆราช

จะมีราชทินนามใหม่ว่า  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ

ธรรมเนียมนี้ใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่  ๔

สมัยก่อนนั้นใช้ว่า  สมเด็จพระอริยวงษญาณ

ตามด้วยชื่อ

มาสมัยหลัง ๆ  จะตามด้วยชื่อและนามสกุลหรือที่เรียกว่า  "ฉายา"

ที่ได้รับตอนอุปสมบท



ราชทินนาม  สมเด็จพระญาณสังวร  นั้น  ก็แปลกอีกอย่างหนึ่ง

คือ  ไม่มีการใช้มาตั้งแต่หมดสมัยของรัชกาลที่  ๒  แล้ว

อาจจะเป็นเพราะรัชกาลอื่นเห็นว่าเป็น  พระราชนิยม  ของ ร. ๒  โดยเฉพาะ

เพราะ  พระองค์ทรงตั้งขึ้นมาใหม่  เพื่อถวาย

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)

เป็นชื่อสำหรับพระเถระผู้ทรงคุณในด้านวิปัสสนาธุระ  โดยเฉพาะ

นั่นย่อมหมายความว่า

รัชกาลที่ ๙  ทรงพิจารณาแล้วว่าสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ  สุวฑฺฒโน)

เป็นพระผู้ทรงคุณทางด้านนี้



คำว่า  สกลมหาสังฆปรินายก  นั้นเป็นตำแหน่งทางศาสนา

หมายความว่า  เป็นใหญ่/เป็นผู้ปกครองสงฆ์ทั้งปวงในประเทศไทย



นอกเรื่องไปเยอะแล้ว

กลับมาที่เรื่องของข้าพเจ้า

ขึ้นชื่อว่า  อาจารย์คนแรก

ในทางธรรมะของข้าพเจ้า

ก็คือสมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราชนี้เอง

เพราะในสมัยนั้น

ข้าพเจ้าอายุ  ๑๓-๑๔  ปี

ไม่สนใจในศาสนามาก่อน

เป็นทาสผู้โง่งมของลัทธิวิทยาศาสตร์

ตักบาตรครั้งแรกอายุเท่าไหร่ไม่รู้

(อาจจะสอง  สาม  หรือ  สี่ขวบ  หรือห้าขวบ  หกขวบ)

แต่รู้ว่า  ข้าวที่จะใส่บาตรนั้นหลุดมือ

หมาคาบไปกินเสียสิ้น

เป็นภาพเลือนรางในความทรงจำ

ถ้ามีใครพูดว่า

ทำอย่างนี้เดี๋ยวจะเป็นบาปเป็นกรรม

ข้าพเจ้าจะยอกย้อนว่า

บาปมันตัวยังไง

ไม่เคยเห็น

ซึ่งในความหมายก็คือ

ไม่เห็นแปลว่า  ไม่มี

ไม่เชื่อ

ไม่เคารพ

ไม่ปฏิบัติตาม

เรียนพระพุทธศาสนาก็เหมือนเรียนวิชาอื่น ๆ

ท่องไปสอบ

จบแล้วก็ลืม

ไม่รู้แม้กระทั่งว่า

อริยสัจ ๔  ประกอบด้วยอะไรบ้าง

รู้จักพระพุทธเจ้าเพียงแค่ว่า

เกิดมาเดินได้เจ็ดก้าว



หนังสือเล่มเล็ก ๆ  ในห้องสมุดโรงเรียนมัธยม

ชื่อว่า

"หลักการทำสมาธิเบื้องต้น"

มีพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จย่า

พื้นหลังสีแดง

อธิบายวิธีทำสมาธิโดยสมเด็จพระสังฆราช

ซึ่งสมัยที่ท่านแต่งหนังสือเล่มนี้

ท่านยังไม่ได้เป็นสังฆราช

สมเด็จย่าทรงขอร้องให้ท่านแต่ง

เป็นวิธีทำสมาธิแบบง่าย ๆ

ซึ่งมีอยู่ในหนังสือเรียนด้วย

แต่ในหนังสือเรียน

ข้าพเจ้าไม่เคยสนใจ

แต่เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้

ข้าพเจ้าได้นำมาปฏิบัติตาม

แรก ๆ  ก็นั่งได้นิดเดียว

เหงื่อไหลไคลย้อย

คันยุบยิบ ๆ  ปวดแข้งปวดขาไปหมด

แต่ก็ไม่ยอมแพ้

วันถัดมาก็นั่งได้มากขึ้นเรื่อย

เพิ่มเวลาขึ้นไปเรื่อย ๆ

การเพิ่มเวลาก็คือการเพิ่มรอบนับลมหายใจนั่นเอง

วิธีที่ข้าพเจ้าใช้

ท่านสอนว่า

ให้นับลมหายใจเข้า-ออก

นับเข้า  ๑  ออก  ๑

ก็จะเป็น  ๑-๑, ๒-๒...  ไปเรื่อย  จนถึง  ๕-๕

แล้วกลับมานับ  ๑-๑,๒-๒...  ใหม่  คราวนี้นับถึง  ๖-๖

แล้วก็กลับมาใหม่  ๑-๑,๒-๒...  ใหม่  คราวนี้นับถึง  ๗-๗

ก็นับไปเรื่อย ๆ  จน  ๘-๘  แล้วก็  ๙-๙  แล้วก็ ๑๐-๑๐

ก็นับว่าเป็น  ๑  รอบใหญ่

อันนี้สำคัญมาก

เพราะถ้าไม่มีสติ  จะนับผิดพลาด

หรือหลงลืม

เช่น  พอนับไปไกล ๆ  แล้ว  จะลืมว่า

รอบที่แล้ว  นับถึง  ๗-๗  หรือ  ๘-๘  หว่า

ต้องมีสติดี ๆ  มาก ๆ

ข้าพเจ้าถือเอาว่า

ถ้าหลงลืม

จะเริ่มนับใหม่ตั้งแต่แรก  คือ  ตั้งแต่  ๑-๑  ถึง  ๕-๕    ใหม่

และถ้ามันผิดมาก ๆ

ก็จะนับซ้ำ ๆ  อยู่อย่างนั้น

ซึ่งต้องไม่ลืมว่า

การนั่งสมาธินั้น

นั่งนาน ๆ  ไปมันจะปวดขา

เหน็บกิน  หรือมีขันธมารอื่น ๆ  มารบกวน

เมื่อชำนาญแล้ว

ก็จะกำหนดเลยว่า

วันนี้จะนับกี่รอบใหญ่

ถ้าพลาดรอบใดรอบหนึ่ง

ก็ต้องจำได้ว่า  นับรอบใหญ่มากี่รอบแล้ว

ถ้าลืมว่านับรอบใหญ่มากี่รอบแล้ว

ก็ต้องเริ่มรอบใหญ่ใหม่

อันนี้เป็นการฝึกสติ


นับแต่นั้นมาข้าพเจ้าทำอะไรผิดพลาดน้อยลงมาก

ลิขวิดเปเปอร์แทบจะไม่ได้ใช้

เขียนหนังสือผิดน้อยมาก

ทำอะไรมีสมาธิ  มีสติ

เลิกเป็นคนก้าวร้าวต่อพ่อแม่

เริ่มศึกษาธรรมะ

มันเป็นไปของมันเอง

เวลาคิดจะทำอะไรหรืออยากได้อะไร

ก็สำเร็จทุกสิ่งอย่าง

เช่นเวลาแข่งประกวดอะไรสมัยนั้น

ก็ได้หมด

นึกอยากได้ก็ได้

บางเรื่องแทบจะเป็นไปไม่ได้

ก็ได้ขึ้นมา

หรือนึกอยากได้อะไรที่มันเหนือวิสัย

ก็ทำได้

เช่น  ยายข้าพเจ้าปวดขามาแต่ไหนแต่ไร

ปวดเป็นประจำทุกวัน  บ่นทุกวัน

ข้าพเจ้านั่งสมาธิ  อธิษฐานให้

เอาทองคำเปลวไปปิดที่เข่าพระทุกองค์ในบ้าน

(รวมทั้งที่เป็นภาพวาด)

อธิษฐานขอให้ยายหายปวด

ก็หายมาตั้งแต่วันนั้นจนทุกวันนี้

สิบห้าปีแล้ว

ไม่บ่นปวดขาอีกเลย

นอกจากอ่านหนังสือธรรมะแล้ว

ข้าพเจ้ายังวาดรูปพระ  ปั้นพระพุทธรูปเอง

โดยไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้มาก่อน

มันเป็นของมันเอง

เวลาทำอะไรแล้วเกิดปัญหา

ปัญญามันมาเอง

มองเห็นช่องทางแก้ปัญหาเป็นระยะ ๆ



ไม่เคยทำบุญก็ทำ

ไม่เคยเข้าไปใกล้พระก็เข้าไปใกล้

แล้วแปลกอย่างหนึ่ง

พระที่ไม่มีความเป็นพระ

ข้าพเจ้าจะไม่เข้าใกล้

มันเป็นของมันเอง

มันจะไม่ไปหา

ถ้าพระแท้พระจริง

อยู่หนแห่งไหน

มันก็นำพาไป

ชีวิตข้าพเจ้าเปลี่ยนไปนับจากนั้น

เพราะหนังสือเล่มเล็ก ๆ

ของสมเด็จฯท่าน

สมัยเรียนมหาวิทยาลัย

เมื่อท่านประชวรใหม่ ๆ

ข้าพเจ้าก็ได้เข้ากราบท่าน

นับเป็นเรื่องที่ไม่เคยคิดฝันมาก่อน

คนตัวเล็ก ๆ  คนหนึ่ง

เคยอ่านหนังสือของท่าน

เคยนำวิธีที่ท่านบอกไว้ไปปฏิบัติ

ได้ชีวิตใหม่เพราะท่าน

ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ระดับสูงสุด

ไม่คิดว่า

วันหนึ่ง

จะได้ไปกราบท่านจริง ๆ

นับว่าเป็นมงคลยิ่งของชีวิต


ไว้บทความหน้า

จะนำหนังสือเล่มนั้นมาลงไว้

เพื่อเป็นวิทยาทาน

แก่ชนรุ่นหลัง

วันนี้เอวังแต่เท่านี้ก่อน


พุทธังกุโร
๑๐  พฤศจิกายน  ๒๕๕๖