วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พระสังฆราชจำเป็นต้องมีหรือไม่

เหตุเพราะสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน

สิ้นพระชนม์

ทำให้เกิดคำถามกว้างขวางขึ้นว่า

สมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อไป

จะเป็นใคร



กลับไปที่สมัยรัชกาลที่  ๔

หลังจาก  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

สิ้นพระชนม์แล้ว

ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

ก็ว่างมาตลอดรัชกาล

นั่นหมายความว่า  ตลอดระยะเวลา  ๑๕  ปี  ไม่มีสมเด็จพระสังฆราชเลย

ทั้งนี้ในสมัยก่อนนั้น

ถือว่า  ผู้ที่จะเป็นสังฆราชได้  ต้องมีคุณสมบัติพิเศษ

เป็นอาจารย์ของกษัตริย์  หรือเป็นผู้ทรงคุณวิเศษที่ประชาชนให้ความเคารพ

เป็นพระเถระที่มีอายุมากกว่าพระชนมพรรษาของกษัตริย์  เป็นต้น

กระนั้นก็ตาม  แม้ไม่มีสังฆราช  การปกครองสงฆ์ก็เป็นไปได้ด้วยดี

เพราะกษัตริย์ทรงถือเป็นพระราชภาระในการดูแลสงฆ์

มีเจ้านายกรมสังฆการี  ทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณ

สมเด็จพระสังฆราชมิได้ปกครองสงฆ์โดยตรง

เป็นแต่เพียงตำแหน่งเท่านั้น

และทั้งนี้

อาจด้วยรัชกาลที่  ๔  ทรงผนวชยาวนาน

จึงถือว่าพระองค์เทียบได้กับสังฆราชองค์หนึ่ง

ถ้ามิได้ทรงถือว่า  สมเด็จฯ  กรมพระปรมานุชิตฯ  ทรงผนวชมานาน

และมีศักดิ์เป็นพระโอรสของปู่  

ก็อาจจะไม่ได้รับการสถาปนาก็เป็นได้



อย่างไรก็ดี  ในสมัยรัชกาลที่  ๕  เมื่อสิ้น  

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)

ก็มิได้ตั้งสมเด็จพระสังฆราช

จวบจนสิ้นรัชกาล  เป็นเวลาถึง  ๑๑  ปี


พอถึง  รัชกาลที่  ๖  จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ 

ให้ตั้งพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก

กรมพระยาวชิรญาณฯ

เป็นสมเด็จพระสังฆราช

และการปกครองคณะสงฆ์ก็ถูกเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่  ๖

กล่าวคือ

ได้ให้อำนาจเด็ดขาดในการปกครองแก่สมเด็จพระสังฆราช

ซึ่งในขณะนั้น  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงเสนาบดีกระทรวงธรรมการ 

ความว่า ควรถวายอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์แก่พระองค์ 

ในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชให้เด็ดขาด 

เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เรียบร้อย 

หลังจากนั้นอีก ๖ เดือน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ได้ทรงมอบการทั้งปวงซึ่งเป็นกิจธุระพระศาสนา 

ถวายแด่พระองค์ผู้เป็นมหาสังฆปรินายก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๕



ตามโบราณราชประเพณีก็ปฏิบัติกันมาอย่างข้างต้น

แต่ในสมัยใหม่ยุคประชาธิปไตย

ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕

วางหลักว่า

พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชหนึ่งองค์ 

ตามคำกราบบังทูลของนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม 

ในการนี้ นายกรัฐมนตรีจะเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ

ที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ 

แต่ถ้าสมเด็จพระราชาคณะดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ 

จะเสนอสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นตามลำดับสมณศักดิ์

และความสามารถในการทำหน้าที่แทน



เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

พุทธังกุโร
๑๐  พฤศจิกายน  ๒๕๕๖