วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วิบัติ ๔ : การทำความดีที่ไม่ถูกต้อง


ไม่ใช่ว่า  เราทำความดี  แล้วจะถูกต้องดีงามเสมอไป

เพราะ  การทำความดี  นั้น  ต้องมีปัญญาประกอบ

พิจารณาสิ่งต่าง ๆ  ให้รอบคอบด้วย  ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ

เพราะคิดว่า  มันคือความดี  แต่ไม่ดูอย่างอื่นเลย

อย่างนี้ใช้ไม่ได้

เข้าทำนอง  ทำคุณบูชาโทษ  โปรดสัตว์ได้บาป

มาดูกันว่า  การทำความดีที่ไม่ถูกต้อง  นั้นเป็นอย่างไร

เรื่องนี้มีใน  วิบัติ  ๔   ว่าด้วยการทำความดีที่ไม่ถูกต้อง

คือ

๑.  ทำความดีไม่ถูกที่

๒.  ทำความดีไม่ถูกบุคคล

๓.  ทำความดีไม่ถูกกาล

๔.  ทำความดีแล้วไม่ตามความดีของตน


ข้อ  ๑  นั้น  ก็เช่นว่า  ทำความดีไม่ถูกที่ถูกทาง  อันนี้เรียก  คติวิบัติ

ข้อ  ๒  อันนี้เข้าใจได้ง่ายอยู่แล้ว  ทำไม่ถูกบุคคล

หรือบุคคลที่ทำนั้นไม่สมประกอบ  มันก็ไม่ดี  เรียก  อุปธิวิบัติ

ข้อ  ๓  ข้อนี้ชัดเจน  ทำไม่ถูกกาลเวลา  ก็ย่อมต้องมีอันยอบแย่  เรียก  กาลวิบัติ

ข้อ  ๔  ข้อนี้ดูเข้าใจยากสุด  แต่เรียกให้ง่ายเข้ามาคือ  ทำแล้วทำไม่ต่อเนื่อง

ทำไม่ถึงที่สุด  ทำย่อ ๆ  หย่อน ๆ  ยึก ๆ  ยัก ๆ  เช่น  เคยนั่งสมาธิครั้งสองครั้งแล้วก็เลิกนั่งเสีย

เคยทำบุญทำทาน  แล้วก็เลิกทำ  อย่างนี้เป็นต้น  อันนี้เรียก  ปโยควิบัติ

ปโยค  ก็คือ  ประกอบ  แปลว่า  วิบัติแห่งการประกอบ (กิจ)  คือไม่ทำกิจให้สมบูรณ์


เอวัง


พุทธังกุโร
๑๐  พฤศจิกายน  ๒๕๕๗



วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

"นักปฏิบัติจริงๆแล้วไม่ต้องคบกับใครก็ได้ นอกจากครูบาอาจารย์"


"นักปฏิบัติจริงๆแล้วไม่ต้องคบกับใครก็ได้ นอกจากครูบาอาจารย์"
ถาม : พระที่อยู่ด้านล่าง ท่านสนใจอ่านหนังสือธรรมะด้านปฏิบัติไหมคะ
พระอาจารย์ : ส่วนใหญ่ท่านบวชตามประเพณี มีเป้าหมายต่างกัน เป็นเรื่องนานาจิตตัง เป็นเรื่องของอินทรีย์ ถ้ามีอินทรีย์แก่กล้าก็จะมุ่งไปทางสำนักปฏิบัติ ถ้าอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ก็จะอยู่วัดในเมือง เหมือนรับประทานอาหาร เราเลือกร้านกัน ร้านอาหารมีหลายระดับ ตั้งแต่ริมถนนจนถึงระดับ ๕ ดาวในโรงแรม ๕ ดาว อยู่ที่กำลังทรัพย์ ถ้ามีทรัพย์มากก็คงไม่รับประทานอาหารริมถนน ถ้ามีทรัพย์น้อยก็ต้องกินอาหารข้างถนน มีทรัพย์มากก็ไปกินร้านอาหาร ๕ ดาว ถ้ามีอินทรีย์แก่กล้าก็จะไปกินอาหารของพระอรหันต์ เป็นเหมือนบัว ๔ เหล่า สะสมบุญบารมีมาไม่เท่ากัน พัฒนาจิตใจมาไม่เท่ากัน ไม่อย่างนั้นคนที่เกิดในสมัยพระพุทธเจ้า ก็ต้องบรรลุเป็นพระอรหันต์กันหมด เพราะมีพระพุทธเจ้ามีพระอรหันต์อบรมสั่งสอน พระที่บวชอยู่ในสมัยนั้นก็ไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์กันทุกรูป เพราะมีอินทรีย์ที่ไม่เท่ากัน
เรื่องเหล่านี้ไม่ควรไปสนใจมาก ควรสนใจอินทรีย์ของเราดีกว่า อินทรีย์เรามีขนาดไหน เพิ่มขึ้นได้หรือเปล่า ทำให้มากกว่านี้ได้หรือเปล่า มัวแต่ไปสนใจเรื่องของคนอื่น ลืมดูเรื่องของตัวเอง อย่าไปมองคนอื่นมากเกินไป ถ้ามองก็มองให้เป็นธรรม คือมองเพื่อเปรียบเทียบ ว่าเขาเก่งกว่าเราหรือด้อยกว่าเรา ถ้าเขาเก่งกว่าเราๆก็ต้องพยายามผลักตัวเราให้เก่งเท่ากับเขาให้ได้ ถ้าเขาด้อยกว่าเราก็อย่าลดตัวเราให้ด้อยเท่ากับเขา ต้องระมัดระวัง เพราะยังอยู่ในฐานะที่เจริญและเสื่อมได้ ยังไม่ถึงจุดที่ไม่เสื่อม ถ้าไม่ระวังถ้าประมาทก็จะเสื่อมลงได้ ถ้าไปคบค้าสมาคมกับคนที่มีอินทรีย์ที่ต่ำกว่า จะถูกเขาชวนไปในทางของเขา ลงมันง่ายกว่าขึ้น ขึ้นมันยากกว่าลง เวลาลงมันง่าย ชวนไปเที่ยวมันง่าย ชวนไปวัดไปปฏิบัติธรรมมันยาก ต้องคบคนที่ชอบไปวัดปฏิบัติธรรม เขาจะคอยชวนเราไปเรื่อยๆ อย่าไปคบกับคนที่ชอบเที่ยว เขาจะชวนเราไปเที่ยว
ท่านสอนว่า อเสวนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวนา เอตัมมังคะละมุตตะมัง การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต เป็นมงคลอย่างยิ่ง คนพาลคือคนที่มีอินทรีย์ต่ำกว่าเรา เรียกว่าคนพาลได้ บัณฑิตคือคนที่มีอินทรีย์สูงกว่าเรา อินทรีย์คือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา ถ้ามีมากกว่าเรา เขาจะชวนให้เราไปเติมให้มากขึ้น ถ้ามีน้อยกว่าเขาจะชวนให้เราลดน้อยลงไป จะได้อยู่ในระดับเดียวกับเขา เช่นเขานั่งสมาธิได้วันละชั่วโมง เรานั่งได้ ๒ ชั่วโมง เขาก็จะชวนให้เรานั่งวันละชั่วโมง ต้องสังเกตคนที่เราคบค้าสมาคมด้วย เขามีอิทธิพลต่อการประพฤติของเรา อย่างเข้าหาครูบาอาจารย์นี้ท่านจะคุยแต่เรื่องธรรมะตลอด คุยแต่เรื่องปฏิบัติตัดกิเลส ท่านไม่คุยเรื่องอื่น ถ้าไปคุยกับคนอื่น ก็จะคุยเรื่องที่เที่ยว เรื่องสถานที่รับประทาน ที่ไหนอร่อย ที่ไหนไม่อร่อย ถ้าเรามีอินทรีย์สูงกว่าเขา ถ้าเขาชวนไปเที่ยว เราจะไม่ยินดีถ้าเราชอบไปวัด เราจะคบกับคนที่ชอบไปวัด หรือไม่ต้องคบกับใครเลย
นักปฏิบัติจริงๆแล้วไม่ต้องคบกับใครก็ได้ นอกจากครูบาอาจารย์ ที่เราต้องพึ่งพาอาศัย ให้การอบรมสั่งสอน ให้ความรู้ พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า ถ้าไม่สามารถคบคนที่เก่งกว่าเราหรือเท่าเราได้ ก็ให้อยู่คนเดียวดีกว่า อย่าไปคบกับคนที่ด้อยกว่าเรา เพราะจะฉุดเราลงต่ำ การอยู่คนเดียวไม่เป็นการเห็นแก่ตัว เป็นการปลีกวิเวก เป็นปัจจัยสำคัญต่อการปฏิบัติ ต่อการเจริญก้าวหน้าในทางปฏิบัติ ถ้ามีโอกาสที่จะปลีกวิเวกได้ก็ไปเลย อย่าคิดว่าเห็นแก่ตัว ถ้าเราทำภาระหน้าที่ของเราเรียบร้อยแล้ว มีเวลาว่างที่จะปลีกตัวได้ก็ปลีกไป เช่นเวลาอยู่ในวัดมีภารกิจต้องทำร่วมกัน ก็ต้องทำร่วมกัน ปัดกวาดร่วมกัน บิณฑบาตก็ทำร่วมกัน พอไม่มีกิจที่ต้องทำร่วมกัน ก็ปลีกตัวไปอยู่ที่ของตน ไปนั่งสมาธิ ไปเดินจงกรม.
กัณฑ์ที่ ๔๑๒ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ (จุลธรรมนำใจ เล่มที่ ๒๑)
“ใจเป็นตัววัดผล”
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การถือธรรมะข้อเดียว

คุณธรรมเพียงอย่างเดียว

เราสามารถยึดไว้

เพียงข้อเดียว

ข้อไหนก็ได้

แม้เรายึดถือเพียงข้อเดียว

ก็สามารถทำให้เราพ้นทุกข์ได้

หรือมีชีวิตที่มีความสุขได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น

เราต้องอาศัยการวิจัย

เรียกว่า  ธัมวิจัย

ในข้อนั้น ๆ  ให้เต็มที่

และเมื่อเราวิจัยเต็มที่

ก็จะพบว่า

ถึงที่สุดแห่งธรรมนั้น

ก็จะรวมลงที่ สติ


การทำความเพียร

หมายความว่า

ทำอยู่เสมอ

บ่อย ๆ  

เน้นย้ำ

ไม่ปล่อย

ไม่วาง

ให้ถึงที่สุด

การปล่อยวางเป็นเรื่องของจิต

ที่เขาอิ่ม

เขาพอใจแล้ว

เขาจะวางของเขาเอง

ถ้าไปไม่ถึง

แล้วปล่อยเสียก่อน

ย่อมถือว่าเป็นความเหลาะแหละ

ความไม่เอาการเอางาน

เป็นกิเลส

แต่อ้างว่าเป็นธรรมะ  คือการปล่อยวาง  

อย่างนี้ไปเสีย


พิจารณามาก ๆ  

ในธรรมะข้อเดียว

ที่ตนยึดถือ

ย่อมไปสู่สุขคติได้



เอวัง

พุทธังกุโร
๓๑  กรกฎาคม  ๒๕๕๗

วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การสั่งสมบารมี

พอความหลงมันเข้าครอบงำแล้ว

เราก็หลงไปหมดว่า

อันนั้นก็ของเรา  อันนี้ก็ของเรา

พอวันหนึ่งมันไม่เป็นของเรา

แต่เราดันไปยึดว่า  มันเป็นของเราอยู่

ก็ทำให้เสียอกเสียใจขึ้นมา

บางทีถึงขนาดกินไม่ได้นอนไม่หลับ

พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่า

ให้ทำทาน  คือบริจาคออกไป  สละออกไป

เป็นการฝึกอุปนิสัยเบื้องต้น

เป็นก้าวแรกของทางเดินเพื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์

เพราะในที่สุดแล้ว

เราต้องสละหมด

ทิ้งหมดจึงจะเข้าถึงนิพพาน  คือที่สุดแห่งทุกข์ได้


ทานเป็นเบื้องต้นของบารมีธรรมทั้งปวง

ศีลเป็นท่ามกลาง

ภาวนาเป็นข้อสุดท้าย

แต่ในทางปฏิบัติจริงแล้ว

ทุกสิ่งก็ส่งเสริมกัน 

หนุนกันอยู่ในแอ่งแห่งทุกขนิโรธคามินีปฏิปทานั่นเอง

มหาบริจาค

ท่านว่ามีอยู่ห้าอย่าง

เป็นสิ่งที่สละได้ยาก

ทรัพย์สมบัติ ๑

ลูก ๑

เมีย ๑

อวัยวะ ๑

ชีวิต ๑

การบริจาคเหล่านี้ต้องทำให้เป็นอุปนิสัย

ฝึกสละละออกให้หมด

เป็นทานบารมี

มหาบริจาค ๕  นี้

เป็นทานบารมี  ทานอุปบารมี  และ  ทานปรมัตถบารมี

ตามลำดับ

จึงวิถีแห่งธรรม  วิถีแห่งการปฏิบัติธรรม

ย่อมต้องดำเนินสั่งสมอุปนิสัยพวกนี้

คือบารมีทั้งสิบ  มีทานบารมีเป็นเบื้องต้น

มีอุเบกขาบารมีเป็นที่สุด

จะเป็นปกติสาวกก็ต้องสั่งสม

เป็นมหาสาวกก็ต้องสั่งสม

เป็นอัครสาวกก็ต้องสั่งสม

เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ต้องสั่งสม

เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องสั่งสม

ต่างกันแต่ระยะเวลาเท่านั้น

ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนิสัยวาสนา  ความปรารถนาของแต่ละคน

แต่ทุก ๆ  สัตว์  ทุก ๆ  ตัวตนในโลก  ต้องทำสิ่งเหล่านี้ทั้งสิ้น

ใครทำเสร็จเรียบร้อยก่อน  ครบเต็มบริบูรณ์ตามที่ตั้งใจไว้ก่อน

ก็ไปก่อน

กลับคืนสู่บ้านที่แท้  คือนิพพาน

ใครหนาหน่อย  ก็อยู่ไปนาน ๆ 

ทรมานกับกิเลสเครื่องล่อลวงรัดรึง

วนอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ไม่สิ้นสุดไปเรื่อย ๆ 

จนกว่าจะตระหนักนึกขึ้นมาได้นั่นแล




เอวังก็มีแต่เท่านี้


พุทธังกุโร

๒๖  มิถุนายน  ๒๕๕๗

วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ชีวิตเปรียบด้วยฟองน้ำ


พระพุทธองค์ ทรงเปรียบชีวิตที่แสนสั้น

ไว้เจ็ดแบบ

ในอังคุตรนิกาย

วันนี้

ขอยกมา  ๑  แบบ  ก่อน


"เปรียบด้วยฟองน้ำเมื่อฝนตกหนักหนาเม็ด

ฟองน้ำที่เกิดจากหยาดฝน  ย่อมตั้งขึ้น


และแตกกระจายไปอย่างรวดเร็วฉันใ


ชีวิตก็ฉันนั้น


เช่นฟองของน้ำ


เป็นชีวิตที่สั้น  ไม่อาจตั้งอยู่ได้นาน


แตกดับง่าย  มีประมาณนิดหน่อย


มีความทุกข์มาก  มีความคับแค้นมาก"

วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ความไม่ยุติธรรม ก็คือ ความยุติธรรมนั่นเอง


 คนเราทุกคนนั้น

มีกรรมเป็นของ ๆ  ตน

เคยปล้น  เคยฆ่าใครไว้

เกิดมาชาตินี้ก็ต้องถูกเขาปล้นเขาฆ่า

หรือดีหน่อยถ้ามีกรรมดีมาตัดรอน

ก็อาจจะเบาลงตามส่วน

แต่จะหนีกรรมไปนั้นไม่ได้


แต่ส่วนมากนั้น  ผู้คนมักไม่ค่อยเชื่อกฎแห่งกรรม

หรือเชื่อก็เพียงเพื่อว่า

อยากให้กฎแห่งกรรมเล่นงานคนอื่น

ที่ตัวเองคิดว่าเขาเป็นคนชั่ว

โดยไม่มองดูตัวเอง

ไม่คิดว่าตัวเองนั้นก็เคยทำชั่วทำดีปะปนกันมา

พอเรื่องไม่ดีเกิดแก่ตัวเอง

ก็โอดครวญ  ร่ำไห้  เป็นทุกข์

ก่นด่า  หาว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรมบ้าง

กฎแห่งกรรมทำงานช้าบ้าง

ทำไมตัวเองเป็นคนดี

หรือคนอื่นที่ตัวเองคิดว่าเป็นคนดี

ไม่ได้ดีบ้าง

ทำไมคนดี ๆ  หรือคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต้องตายบ้าง

หนักเข้าก็จะหาทางไปแก้กรรม

ไปตัดกรรม

หรือไปทำอะไรต่าง ๆ  ที่เขาโฆษณาว่า

จะทำให้ชีวิตมันดีขึ้น

ทำให้ความทุกข์ยากที่ตัวเองเผชิญอยู่นั้น

หายไป

ดีหน่อยก็อาจจะแผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวรของตัวเอง

ทำบุญให้ทานเพื่อหวังจะไถ่บาป

โดยที่ลืมไปว่า

ตอนตัวเองไปทำเขาไว้นั้น

ทำไมไม่เมตตาเขาบ้าง

พอเขาจะเอาคืน  ปากก็บอก

จงเป็นสุข ๆ  เถิด

อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย

เอ้านี่  ฉันแผ่เมตตาให้เธอแล้ว

รับไปสิ

อย่างนี้เป็นต้น

ความจริงต้องนึกถึงใจเขาใจเราบ้าง

ว่า  ถ้าเป็นเรา

เขาทำเราขนาดนั้น

เขาชดใช้ให้เล็ก ๆ  น้อย ๆ  นิด ๆ  หน่อย ๆ  

เราจะพอใจไหม

มันก็ไม่


ใครทำอะไรไว้แล้ว

ต้องรับผลการกระทำของตัวเองไป

ไม่มีคำว่า  ไม่ยุติธรรม

มันยุติธรรมโดยธรรมชาติของมันอย่างนั้น

ซึ่งข้าพเจ้ากล่าวเสมอว่า

ความไม่ยุติธรรม  ก็คือ  ความยุติธรรมนั่นเอง

หมายความว่า

ความไม่ยุติธรรม(ที่เราคิดเอาเองว่าไม่ยุติธรรม)นั้น

มันคือยุติธรรมตามธรรมชาติของมันแล้วนั่นเอง


และถ้าเราอยากให้มันยุติจริง ๆ  

ก็ต้องพิจารณาธรรมที่ทำให้ทุกอย่างยุติ

ธรรมที่ทำให้อะไรต่าง ๆ  มันสงบ

ก็คือ  การให้อภัย  นั่นเอง

การให้อภัย  กับ  สติ  เป็นธรรมอันเดียวกัน

เช่นเดียวกับ  คำว่า  ทางสายกลาง

การทำใจให้เป็นกลาง  หรืออุเบกขา

หรือแม้กระทั่งคำว่า  สงบ  สันติ  หรือนิพพาน

เป็นธรรมตัวเดียวกันในแง่การปฏิบัติ

แต่กิริยาของธรรมแต่ละตัวนั้นต่างกันอยู่บ้าง

ตามสภาพการณ์

แต่โดยหลักใหญ่ใจความคือ  อันเดียวกัน


อาจมีคำกล่าวว่า

ความทุกข์  ความตาย  ความสูญเสีย  นั้น

ไม่เกิดกับใคร  คนนั้นไม่รู้หรอก

อย่าไปพูดว่า  ให้อภัยเถอะ

เพราะถ้ามันไม่เกิดกับมึง  มึงไม่รู้สึกหรอก

หรือ  ให้มันเกิดเรื่องร้าย ๆ  อย่างนี้กับมึงสิ

มึงจะให้อภัยคนที่ทำได้ไหม  ให้มันเกิดกับพ่อมึงแม่มึง

กับครอบครัวมึงสิ

หรืออะไรเทือกนี้

แท้แล้วการให้อภัย  ไม่ว่าจะเกิดกับใคร

ผู้ที่ได้รับผลกรรมนั้น

ก็ต้องให้อภัยทั้งสิ้น

ไม่ให้วันนี้

วันหน้าก็ต้องได้ให้

เพราะถ้าไม่ให้

ก็เป็นเวรต่อกันไม่สิ้นสุด

เกิดตายไม่สิ้นซากเสียที

เป็นทุกข์ไปเรื่อย ๆ  

ดังธรรมะที่ว่า

การเกิดทุกคราเป็นทุกข์ร่ำไป

ทั้งนี้เพราะเราไม่รู้จักการให้อภัยต่อกันและกัน

ถ้าเรารู้ว่ามันเป็นกรรมของเรา

เราเคยทำเอาไว้

เราก็ยอมรับ

และให้อภัย

การยอมรับนี้

มันไม่ได้ใช้กับผลของกรรมชั่วอย่างเดียว

มันใช้กับผลกรรมดีด้วย

เราต้องฝึกให้อภัยในสิ่งดี ๆ  ที่เข้ามาในชีวิตด้วย

แต่การให้อภัยในสิ่งดี ๆ  ที่เข้ามาในชีวิต

เราไม่เรียกว่า  การให้อภัย

แต่เราเรียกว่า  การทำใจให้เป็นอุเบกขา

คือเฉยเสีย  เป็นกลางเสีย

อย่าไปยินดีกับมัน

สรุปง่าย ๆ  ให้ลัดสั้นเข้ามาอีกก็คือ

อย่าไปดีใจ  อย่าไปเสียใจกับอะไรเลย

ให้เดินทางสายกลางเสีย

เพราะการดีใจนั้น  ก็เป็นทางสุดโต่ง

คือ  กามสุขขัลลิกานุโยค

และการเสียใจนั้น  ก็เป็นทางสุดโต่ง

คือ  อัตตกิลมาถานุโยค

เราควรเดินทางสายกลาง

คือความมีสติ  ความเป็นอุเบกขา  ความเป็นกลาง ๆ  

วางใจให้นิ่ง ๆ  ไม่ยินดียินร้าย

อย่างนี้เรียกว่า  ตั้งอยู่ในอริยมรรค

ซึ่งการตั้งอยู่ในอริยมรรคนี้

หากมรรคทั้งแปดรวมลงสามัคคีกันเมื่อไหร่

ก็บรรลุธรรมเมื่อนั้น

เป็นขั้นต่าง ๆ  ตามกำลังของสติปัญญาบารมี



เอวัง


พุทธังกุโร
๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗






วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กาลามสูตร ๑๐




กาลามสูตร ๑๐

อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตาม ๆ กันมา ๑
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบ ๆ กันมา ๑
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ ๑
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ ๑
อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรกะ ๑
อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน ๑
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล ๑
อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว ๑
อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะว่าน่าจะเป็นไปได้ ๑
อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา ๑



อคติ ๔


อคติ ๔  นี่  ถ้าไม่ใช่อรหันต์ละไม่ขาด

พระอรหันต์เท่านั้นละได้ขาดสนิท

คนธรรมดาละได้ชั่วครู่ชั่วคราว

ฉะนั้นถ้าใครบอกว่า  ตัวเองเป็นคนไม่มีอคติเลยยยยยย

อย่าไปเชื่อเขาง่าย ๆ  

คนที่พูดอย่างนั้นแหละ  มีแววที่จะอคติ

มากกว่าคนที่ไม่พูดสักสิบเท่าได้


ธรรมะเรื่อง  อคติ  นี้

ถ้าพิจารณาดี ๆ  ก็บรรลุถึงอรหัตผลได้เหมือนกัน

เพราะเรื่องอคติ ๔  นี่คือ  ท่านสอนให้เดินทางสายกลาง

คือไม่ให้เอียงไปทางรัก  ไม่ให้เอียงไปทางชัง

ให้อยู่กลาง ๆ  ฟังแค่สองข้อแรกก็บรรลุธรรมได้ถ้าบารมีแก่กล้า

(ธรรมะของพระพุทธเจ้าทั้งหมดสอนให้เป็นกลางทั้งสิ้น)

สมัยพุทธกาลจึงมีคนบรรลุเป็นลำดับ ๆ  ไป

เวลาพระพุทธเจ้าแสดงธรรมหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งขึ้นมา

ตั้งแต่อรหัตผลลงมาถึงโสดาปฏิมรรค

หรืออย่างดีก็ถึงไตรสรณคม  มีพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง


เรียกง่าย ๆ  ว่า  ธรรมข้อเดียว  ถ้าพิจารณาได้

บารมีถึงพร้อม  ก็ถึงความเป็นอรหันต์ได้  

ไม่ต้องศึกษาอันอื่นให้วุ่นวาย

เพราะสุดท้ายธรรมทั้งหลายทั้งปวงย่อมไหลมารวมกันหมด


ข้อที่ว่าลำเอียงเพราะกลัว  และลำเอียงเพราะหลงนั้น  

มันเคลือบแฝงอยู่กับอคติสองข้อข้างต้นด้วยเสมอ

แต่ถ้ามันมากมายล้นออกมา  มันก็ฉายเดี่ยวโชว์เดี่ยวได้เหมือนกัน


สุดท้ายเพื่อสรุปความ

อคติ ๔  ประกอบด้วย

ฉันทาคติ  เอียงเพราะรัก  เอียงไปทางรัก

โทสาคติ  เอียงเพราะชัง  เอียงไปทางชัง

ภยาคติ  เอียงเพราะกลัว  เอียงไปทางกลัว  มีความกลัวเคลือบแฝง

โมหคติ  เอียงเพราะหลง  เอียงไปทางหลง  มีความเมาแอบแฝง


เมื่อมีอคติบังตา  บังหัวใจ  บังคุณงามความดี

ย่อมนำพาไปสู่ความชั่วได้ง่าย


เอวัง
พุทธังกุโร
๒๔ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๗

วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557

การเมตตาตนเอง คือ ความสงบสุขของโลก


การเมตตาตัวเองนั้นสำคัญมาก

บทเมตตาตัวเองนั้น

มีว่า

ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข

ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากทุกข์

ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีเวร

ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่เบียดเบียน  ไม่คิดร้าย  อาฆาตพยาบาท

ขอให้ข้าพเจ้าไม่มีความทุกข์กายทุกข์ใจ

ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุขกายสุขใจ  รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหมดทั้งสิ้น


รวมความก็คือว่า

ถ้าเราเมตตาตัวเองให้มาก ๆ  

แผ่เมตตาตนเองมาก ๆ  

สำนึกสำเหนียกในบทแผ่เมตตานี้อยู่เสมอ

เราจะอาศัยบทเหล่านี้

เป็นแรงผลักดันให้ถึงนิพพานเสียเลยก็ได้



อย่างไร

ข้อที่ว่า  ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากทุกข์  ก็คือ  ขอให้ถึงนิพพานนั่นเอง

ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข  ก็คือขอให้ถึงนิพพาน  

เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง


ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีเวร

คืออย่างไร

คือตัวเรานี้  จะเป็นผู้ไม่มีเวรได้  ก็ต้องเลิกเบียดเบียนตัวเองเสียก่อน

การไม่เบียดเบียนตัวเอง  ก็คือ  ไม่มุ่งไปในทางหลงรักหลงชัง

เดินไปในทางสายกลาง  คือ  มัชฌิมาปฏิปทา

การไม่เบียดเบียนตัวเอง  อีกข้อก็คือ  การไม่ทำร้ายผู้อื่น

เพราะหากเราทำร้ายผู้อื่น  ไม่ว่าจะทาง  กาย  วาจา  ใจ  ก็ตาม

ผลแห่งการกระทำนั้น  ย่อมนำซึ่งเวรมาสู่เราไม่สิ้นสุด

เราทำร้ายเขา  เขาก็มาทำร้ายเรา

หากเราละพวกนี้เสีย  เราก็พ้นจากทุกข์โดยแท้เทียว


ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่อาฆาตมาดร้าย  ไม่พยาบาท 

ไม่ชิงชังผู้อื่น  อันนี้เป็นการทำให้เราพ้นจากทุกข์

และเป็นสุขทั้งสิ้น


ดังนี้  การแผ่เมตตาตนเอง  คือ  ความสงบสุขของโลกอย่างแท้จริง

เพราะถ้าเราเมตตาตัวเราเอง

เราก็ไม่ทำร้ายใคร  

เมื่อเราไม่ทำร้ายใคร  ก็ไม่มีใครทำร้ายเราได้

ยิ่งถ้าทุกคนเมตตาตัวเองให้มาก ๆ  

ทุกคนก็จะไม่ทำร้ายกันเลย


ส่วนบทแผ่เมตตาคนอื่นนั้น

เป็นการแผ่ให้บุคคลที่สองและสาม  ไม่ให้ทำร้ายกันและกัน

นั่นหมายความว่า

เรามีคุณงามความดี  เราสร้างคุณงามความดีให้งอกขึ้นมาในจิตใจ

เป็นจิตใจแห่งความเมตตาแล้ว

เราก็ปรารถนาให้คนอื่นเป็นเช่นนั้นด้วย



ที่เข้าใจผิดกันทุกวันนี้

คือ  คิดว่า  บทแผ่เมตตาที่ว่า  สัพเพสัตตา  นั้น

เป็นการแผ่ให้คนอื่นอย่ามาทำร้ายเรา (ซึ่งก็ไม่ผิด  แต่ไม่ถูกนัก)

เป็นความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง

เพราะการที่คนอื่นจะมาทำร้ายเรา

ย่อมหมายความว่า

เราเคยทำร้ายเขามาก่อน  พอเขาจะเอาคืน

เรากลับไปบอกว่า  อย่ามาเบียดเบียนกันเลย

อย่างนี้ไม่ถูกต้อง

ถ้าเราไม่อยากให้ใครมาทำร้ายเราแล้ว

เราควรแผ่เมตตาตนเองจะดีกว่า

ทำตัวเราให้เป็นไปตามอย่างที่เราอยากให้เป็น  

ในบทแผ่เมตตาตนเอง

คือ  ทำตัวเราให้เป็นสุข  ให้พ้นจากทุกข์

ให้เป็นผู้ไม่มีเวร  ให้เป็นผู้ไม่เบียดเบียน ไม่อาฆาตพยาบาท  ชิงชัง

ฉะนี้แล้ว  แม้คนอื่นจะพยายามทำร้ายเรามากแค่ไหนก็ตาม

เราย่อมไม่เป็นทุกข์เพราะพวกเขาเหล่านั้น

ธรรมะของเราได้คุ้มครองเราแล้ว

ดังคำที่ว่า

ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม


เอวัง

พุทธังกุโร
๒๑  มกราคม  ๒๕๕๗

สติ-อภัย ทางสายกลาง



สิ่งที่เราทำได้

แม้ผู้อื่น

จะว่ากล่าวอย่างไรแก่เรา

จะคิดจะพูดอย่างไรแก่เรา

ก็คือ  ความอดทน

และให้อภัย

เพราะผู้คนในโลกย่อมเป็นเช่นนั้นเอง

ย่อมไม่รู้

ย่อมไม่เข้าใจ

ย่อมหลงผิด

ย่อมคิดว่าสิ่งที่ตัวเองคิดนั้นถูกต้อง

โดยไม่มองย้อนเข้าไปดูตัวเขาเอง


เมื่อพิจารณาเหตุผลโดยรอบแล้ว

เมื่อพิจารณาตัวเองแล้ว

ว่าเรามิได้มีสิ่งใดบกพร่อง

แม้เราจะเป็นทุกข์อย่างไร

กับข้อกล่าวหาใด ๆ  

ทุกข์นั้นก็ดับไปได้

ดำรง  สติ  และสัมปชัญญะ

มีความรู้เท่าทันธรรมดาอยู่เสมอ

ดูตัวเองอยู่เสมอ

ย่อมชื่อว่า

เป็นผู้เดินทางสายกลาง


พุทธังกุโร
๒๑  มกราคม  ๒๕๕๗