วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สังฆัสสาหัส๎มิ ทาโส วะ สังโฆ เม สามิกิสสะโร ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระสงฆ์ พระสงฆ์เป็นนายมีอิสระเหนือข้าพเจ้า



สังฆัสสาหัส๎มิ  ทาโส วะ สังโฆ  เม  สามิกิสสะโร

ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระสงฆ์  พระสงฆ์เป็นนายมีอิสระเหนือข้าพเจ้า


คาถานี้มีในบทสวดมนต์ทำวัตรเย็น

น่าจะแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่  ๔

หรือหากไม่ก็รัชกาลที่  ๔  นั่นแหละ

พระราชนิพนธ์ขึ้นมาเอง

ครั้งสมัยทรงผนวชเป็นพระภิกษุ


จากคาถาอย่างนี้เอง

ที่ท่านพุทธทาสนำมาตั้งเป็นชื่อท่าน

พุทธัสสาหัส๎มิ ทาโส วะ พุทโธ เม สามิกิสสะโร

ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้าเป็นนายมีอิสระเหนือข้าพเจ้า





ภาพข้างบนเป็นภาพที่แพรวาถ่ายเมื่อนานมาแล้ว

สมัยเราไปวัดป่านาคำน้อยกันใหม่ ๆ  

ก็อย่างที่เล่าไว้ในคราวแรก

ข้าพเจ้าต้องคอยอุปัฏฐากครูบาอาจารย์เสมอ

เพราะท่านเป็นครูบาอาจารย์ของเรา

เป็นผู้เมตตาเรา

เป็นผู้ให้แก่เราอย่างที่สุด

เราจึงต้องตอบแทน

ทุก ๆ  ทาง  ทุก ๆ  อย่างที่เราทำได้

ข้างบนเป็นบาตรของครูบาวิทย์

ท่านครูบาวิทย์นี้เอง

คือผู้ที่เอาสายบาตรคล้องคอข้าพเจ้าเป็นคนแรกในชีวิต

เมื่อครั้งข้าพเจ้าไปปฏิบัติธรรมตอนปีใหม่  ๒๕๕๕

ท่านก็เป็นผู้จัดหาที่พักแก่ข้าพเจ้า

พาข้าพเจ้าไป

กวาดกุฏิให้

สอนหลักสำคัญของการภาวนาให้

และทุกครั้งที่ไปต่อ ๆ  มา

ก็เป็นครูบาวิทย์อีกนั่นแหละ

ที่บอกว่า

ให้ข้าพเจ้าไปอยู่กุฏิไหน

เมื่อครูบาอาจารย์ชี้ทางให้แล้ว

ข้าพเจ้าก็ไปอยู่

แม้บางแห่งจะมีปัญหาติดขัดบ้าง

ก็ทนอยู่

เพราะเคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์

และเชื่อว่า

ถ้าครูบาอาจารย์ได้บอกอย่างไรแล้ว

ก็น่าจะเป็นเพราะมีเหตุอยู่แล้ว  ๑

เพราะดีอยู่แล้ว  ๑

เพราะเป็นประโยชน์  ๑

เพราะสัปปายะ  ๑


อีกอย่าง

เรื่องการถืออยู่อันที่เขาจัดไว้ให้นี้

เป็นธุดงควัตรข้อหนึ่ง

คือ

 ยถาสันถติกังคะ อยู่ในที่พักที่เขาจัดให้โดยไม่เลือก


ครูบาวิทย์นี่เอง

เป็นผู้ตอบข้อสงสัยต่าง ๆ  ของข้าพเจ้า

โดยไม่ปิดบังอำพราง

จึงเป็นประเพณีส่วนตัวของข้าพเจ้า

(ความจริงประเพณีนี้เริ่มมาจากปรัชญา)

ว่า

คืนก่อนวันจะกลับหนึ่งคืน

จะต้องไปสนทนาธรรมกับท่าน

ไปกราบเรียนผลการปฏิบัติกับท่าน

(ส่วนหลวงพ่อนั้น  ไปกราบท่านตอนบ่าย ๆ  เย็น ๆ  

กล่าวโดยรวมก็คือ

ก่อนวันจะกลับ

ตอนบ่ายแทนที่จะไปกวาดลานวัด

ก็ไปกราบสนทนากับหลวงพ่อเสีย

แล้วตอนเย็นก็ไปกราบครูบาวิทย์)

มีข้อแปลกอยู่อย่างหนึ่ง

คือเรื่องอะไรก็ตาม

ที่ข้าพเจ้าสงสัย

เช่น  เดินจงกรมอยู่

แล้วเกิดสงสัยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

หรือพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

แล้วไม่แตกฉาน

หรือจะแตกฉานแล้วก็ดี

ไม่ต้องเอ่ยถามเอ่ยถึงเลย

เมื่อได้สนทนากับท่าน

ท่านจะตอบคำถาม

และแก้ปัญหาเรื่องนั้น ๆ

แก่ข้าพเจ้าโดยอัตโนมัติ

หากเป็นเรื่องทั่ว ๆ  ไปก็คงไม่แปลก

แต่บางครั้งข้าพเจ้าก็สงสัยเรื่องที่มันซอกแซก

อย่างเช่นว่า

เออ  ถ้าเรามาบวชแล้ว

เกิดวันหนึ่งสมบัติที่เราหาไว้ให้พ่อแม่ของเราหมดลง

พ่อแม่เราจะมิลำบากหรือ

เพราะท่านก็เฒ่าแก่ไปเรื่อยหาเงินหาทองไม่ได้

อย่างนี้เป็นต้น

ท่านก็เมตตาหาโอกาสพูดเรื่องนี้ให้ข้าพเจ้าฟัง

ทั้งที่ไม่ได้เอ่ยปากถามเลย


เรื่องอย่างนี้จะว่าแปลกก็แปลก

จะว่าไม่แปลกก็ไม่แปลก

ถ้าเป็นสมัยเด็ก ๆ  

ข้าพเจ้าก็คงแปลกใจบ้าง

แต่เมื่อโตขึ้น

เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิตไปเสียแล้ว

ที่ว่าแปลก ๆ  นั้น

ก็ว่าไปตามประสาโลกมนุษย์   ไม่ได้ถือเป็นจริงจังอะไร


อีกเวลาหนึ่ง

ที่เป็นเวลาฟังธรรมของข้าพเจ้า

คือตอนไปบิณฑบาต

ระหว่างเดินไป

ก็สนทนาไปด้วย

เพราะระยะทางจากวัดไปหมู่บ้านก็ไกลโขอยู่

แล้วก็แปลกอีกนั่นแหละ

หากครั้งไหนมีเรื่องต้องคุยมาก

รถก็มักไม่นิมนต์พระนั่ง

แต่ถ้าครั้งไหนไม่มีอะไร

เจ้าของรถก็นิมนต์พระนั่งรถ

คือ

ถ้าเป็นสายหน้าวัด

ทางบ้านนาคำน้อย

จะเป็นถนนใหญ่

พระจะเดินไป

ถ้ามีรถโดยสาร

ซึ่งเช้า ๆ  เขาจะไม่มีคน

เขาก็จะจอดรับพระไปด้วย


แต่สมัยก่อนหน้านั้น

ครูบาท่านไปสายหลังวัด

ทางขรุขระ

เดินไปได้อย่างเดียว

อันนี้ดีในแง่การสนทนาวิสาสะ



สมัยใหม่นี้

ขาไปอาจจะเดินไป

หรือนั่งรถไป(ถ้ามีคนนิมนต์)

แต่ขากลับจะนั่งรถกลับ

ทั้งสายบ้านนาคำน้อย

สายบ้านชุมพล

และสายหลังวัด

(หลังวัดต้องเดินไปเท่านั้น

จะเป็นทางลัดขรุขระ

ส่วนขากลับรถจะพาอ้อมมาถนนใหญ่)



คือเรื่องนั่งรถกลับนี่ก็เป็นศรัทธาญาติโยมเขา

เดี๋ยวนี้ทุกอย่างเจริญมาก

คนแถบนั้นก็มีรถกันแทบทุกหลังคาเรือน

บางบ้านมีหลายคันเสียด้วย

อย่างที่ครูบาเคยพูดกับข้าพเจ้า

"ไทยซื้อเหล็ก  เจ๊กซื้อดิน"  

นั่นแล


พ. พุทธังกุโร
๒๘  มิถุนายน  ๒๕๕๖