วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556

วัดป่านาคำน้อย ๔ : คือบ้าน คือถิ่นฐาน คือเรือนตาย

ภาพชุดนี้

เป็นการไปอยู่ที่วัด

ครั้งที่  ๔

เมื่อปลายปีที่แล้วต้นปีที่ผ่านมา

หน้าหนาวที่วัดจะหนาวมาก



รูปแรกถ่ายที่บ้าน


ไปถึงวัดเช้า ๆ  

ระยะทางจากบ้านไปวัด

ประมาณ  เกือบแปดสิบกิโลเมตร

แม่จะต้องตื่นแต่ตีสามเพื่อทำอาหาร

ออกเดินทางประมาณตีห้ากว่า ๆ  

ถ้าขับรถเร็วหน่อยก็อาจจะเกือบหกโมงก็ทัน




ปีนี้เป็นปีที่คิดว่า  จะเข้าวัดอย่างสบายใจ

แต่ก็มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นจนได้

หากก็นับว่าเป็นบุญพอสมควร

ที่เรื่องสงบด้วยดี

ซึ่งทำให้ได้พัฒนาจิตใจไปอีกขั้น


ข้าพเจ้ามีญาติอยู่ที่อำเภอนายูงด้วย

เป็นญาติฝ่ายยาย

มาทีไรก็แวะเยี่ยม

สมัยเด็ก ๆ  

ข้าพเจ้ามาเที่ยวแถวนี้บ่อย ๆ  

แต่ไม่เคยมาวัดนี้เลย

มาอยู่กิน  นอน  เล่น  ใช้ชีวิตในวัยเด็กที่อำเภอนายูง

นั่งรถสองแถวสีขาวมาสมัยนั้น

สมัยนี้รถพวกนี้ก็ยังอยู่

หมู่บ้านของญาตินั้นลึกเข้าไปอีกจากถนนใหญ่

ต้องรอรถเป็นชั่วโมง ๆ  

กว่าจะมีรถผ่าน

ซึ่งรถที่ผ่านก็คือ

รถของชาวบ้านทั่ว ๆ  ไป

ไม่ใช่รถโดยสาร

รถโดยสารไม่มี

ไปกับยาย

มีไร่ข้าวโพด

ที่ไร่มีหนองน้ำ  มีต้นพุทรา

เดี๋ยวนี้ไร่ถูกขายไปแล้ว

แต่ผ่านทีไรก็อดคิดถึงไม่ได้

อดเหลียวดูไม่ได้

มองเห็นเด็กชายตัวเล็ก ๆ  

นั่งร้องไห้อยู่ที่กระต๊อบ

รอพ่อแม่กลับมา

จากการเก็บข้าวโพด

อยู่เสมอ


ผ้าห่มไหมพรมยายทอเอง

ตั้งแต่สมัยข้าพเจ้าเป็นเด็ก

ของในบ้านเรานั้น

ทำเองแทบทั้งสิ้น

นอกจากไว้ใช้เองแล้ว

ก็ให้ญาติ

บางทีก็ขาย

เช่น  พวกเสื่อ  อะไรอย่างนี้

เสื่อนี่ทำง่ายมาก

จากต้นกก

ข้าพเจ้าก็เคยช่วยทำ

สนุกสนานเวลาเอาต้นกกมาย้อมเป็นสีต่าง ๆ  


ปกติเวลาจะมาอยู่วัด

พ่อแม่ยายรวมทั้งญาติหรือแม้กระทั่งคนข้างบ้าน

คนในหมู่บ้าน  ทั้งที่สนิทไม่สนิท

ก็มาส่ง  มาวัดด้วย

(รวมทั้งขากลับก็ต้องมารับ)

เรียกง่าย ๆ  ว่า

เป็นกุศโลบายพาคนเข้าวัดว่างั้นเหอะ



รูปนี้เป็นอดีตที่อาจไม่หวนคืนอีกแล้ว

ตอนนี้ไม่ใช่  ปรัชญา  เฉย ๆ  

แต่เป็น  ครูบาปรัชญา

กัลยาณมิตรผู้บวชไม่มีกำหนดสึก



แม่กับแพรวา

เหมือนแม่หมี  กับลูกหมี

555


กินข้าวร่วมวงกันอย่างนี้

เป็นธรรมเนียมวัดป่า

พระให้พร  เทศน์เสร็จ

ก็แยกย้ายกันกินข้าว

กินพร้อมพระ


ทางเข้ากุฏิ

งวดนี้อยู่อีกกุฏิหนึ่ง

ข้าพเจ้าไม่เคยได้อยู่กุฏิซ้ำเดิมเลย

ครูบาวิทย์เลือกให้เช่นเคย


มองจากมุมทางเดินจงกรมเข้าหากุฏิ


กุฏินี้ข้าพเจ้าชอบ

จึงถ่ายภาพไว้เยอะ


มองจากกุฏิเข้าไปหาทางเดินจงกรม 



ร่มรื่น


เขาร่ำลือว่า  กุฏินี้  มีงู

งูใหญ่เลื้อยไปเลื้อยมา

จึงไม่ค่อยมีพระมาอยู่

ข้าพเจ้าไม่กลัวงู

เพราะมีคาถาเมตตางูทั้งหลาย

555

ก็อยู่ได้สบาย

ตลอดระยะเวลาที่อยู่

ไม่เห็นงูมาเพ่นพ่านสักงู


มีกลดเป็นประจำ

ที่ไหนที่ข้าพเจ้าอยู่

ข้าพเจ้าชอบกางกลด

กลดมีข้อดีหลายอย่าง

กันแมลงก็ได้

กันง่วงก็ได้





หลาย ๆ  มุม


ปกติมาอยู่วัด

ข้าพเจ้าไม่ค่อยกินข้าว

ความจริงจะเรียกว่า

ไม่กินเลยก็ได้

ครูบาปรัชญาเคยแซวว่า

คนมาอยู่วัดเขากินข้าวกันมื้อเดียว

แต่ข้าพเจ้ากินสองมื้อ

มื้อแรก

คือวันแรกที่มาอยู่

อีกหนึ่งมื้อคือวันที่จะกลับ

นอกนั้นไม่กิน

ตลอดระยะเวลาเจ็ดวันเจ็ดคืน



ทางเดินจงกรม


ข้าพเจ้าชอบมาก

อัธยาศัยถูกกับการอดอาหาร

อดเท่าไหร่ก็ได้

ไม่หิว

ไม่เหนื่อย

ทำงานได้ปกติ

กวาดกุฏิ  ล้างห้องน้ำ

ถูศาลา

หรืองานตามแต่พระจะเรียกใช้

ไปอยู่วัด

ก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง

ไม่เอาสมมุติใด ๆ  เข้าไปเกี่ยว

ไม่มียศมีศักดิ์อะไร

เป็นเด็กวัด



ทางเดินจงกรมกุฏินี้จะร่มรื่นตลอดวัน



มีเทียนเล่มใหญ่ ๆ  ไว้จุดเดินตอนกลางคืน


ดูแลให้สะอาดสะอ้านอยู่เสมอ

ข้าพเจ้าเป็นคนชอบอะไรที่มันสะอาดสะอ้าน

เป็นระเบียบเรียบร้อย

ไม่ชอบความรก


ตอนเช้าอากาศเย็น ๆ  

เหมาะแก่การภาวนา



ปกติการมาอยู่ที่วัดแบบนี้

เหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นฐานบ้างแล้ว

ปฏิบัติเองได้

มีกำหนดเวลาเฉพาะดื่มปานะ

คือบ่ายโมงถึงบ่ายสาม

บ่ายสี่โมงเริ่มกวาดศาลา

ทุกคนต้องมากวาด

ส่วนกุฏิกวาดตอนไหนก็ได้

นอกนั้นก็ไม่มีอะไร

ตื่นตอนไหน

นอนตอนไหนก็ได้

ไม่นอนก็ได้

สวดมนต์ก็ได้

ไม่สวดก็ได้

แต่ถ้าคนที่ปฏิบัติจริง ๆ  

ก็สวดมนต์อย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง

อย่างมากสองครั้ง  เช้า-เย็น

ตื่นตีสามหรือตีสี่

มาเดินจงกรม  นั่งสมาธิภาวนา

ตีห้าออกไปกวาดศาลา  แล้วตามพระบิณฑบาต

เนื่องจากข้าพเจ้าไม่กินข้าว

การออกไปกวาดศาลาตอนเช้า  และตามพระบิณฑบาต

จึงไม่จำเป็น

ความจริงใครขี้เกียจหน่อย

ไม่ตามพระบิณฑบาตก็ได้

ไม่มีใครว่า

พระบิณฑบาตมา

ก็ออกไปกินข้าว

แต่อะไรอย่างนี้ก็เป็นที่น่าละอายใจ

ให้พระหาเลี้ยง

เป็นบาปเป็นกรรมเสียเปล่า ๆ  

การเดินตามพระบิณฑบาต

เป็นการฝึกหลายอย่าง

ตั้งแต่ฝึกตื่นเช้า

ฝึกความอดทน

เพราะไม่ได้ใส่รองเท้า

ฝ่าตีนบาง ๆ  กระทบก้อนหินมันก็เจ็บ

ยิ่งหน้าหนาวไม่ต้องพูดถึง

เจ็บแสบยิ่งนัก

กินข้าวเช้าเสร็จ

ก็ช่วยเก็บศาลา

กว่าจะได้เข้ากุฏิบางคนก็ปาไปเกือบสิบโมง

ถ้าอดอาหารก็ไม่ต้องยุ่งพวกนี้

เอาเวลาไปภาวนา

ได้เต็มที่

จากนั้นบ่าย ๆ  ก็ออกไปดื่มปานะ

กวาดถูศาลา  เช็ดถ้วยชามด้วยน้ำร้อน

กิจวัตรก็มีเพียงเท่านี้ 



ปกติข้าพเจ้าจะถ่ายภาพวันสุดท้ายก่อนกลับ

ถ่ายกุฏิ

ถ่ายอะไรต่าง ๆ  

เห็นโบเก้มันสวยดี

ก็ถ่ายเล่น ๆ  

มีแมงมุมด้วย


การไปอยู่วัดอย่างนี้

สงบเงียบดี

ไม่รำคาญด้วยผู้คน

สบายใจ


อากาศไม่ต้องพูดถึง

ดีมากถึงมากที่สุด

เต็มไปด้วยต้นไม้



เนื่องจากข้าพเจ้าเป็นคนชอบอยู่คนเดียว

ก็เลยชอบอะไรประเภทนี้

และเนื่องจากเป็นคนไม่ชอบทำอะไรร่วมกับหมู่คณะ

ข้าพเจ้าจึงชอบปฏิบัติแบบนี้

ประเภทที่เดินจงกรม  นั่งสมาธิรวมกันเป็นหมู่เหล่านั้น

ไม่ชอบ

น่ารำคาญ



เวลามีปัญหาทางการปฏิบัติ

ก็ถามครูบาอาจารย์ได้

ก่อนจะกลับ

ก็เล่าการปฏิบัติถวายหลวงพ่อ

คือทุกครั้งก่อนจะออกจากวัด

ต้องเล่าถวาย

หลวงพ่อเคยบอกเมื่อครั้งก่อน ๆ  ว่า

การปฏิบัติของข้าพเจ้านั้น  "เอาตัวรอดได้แล้ว"

แต่ข้าพเจ้าก็มิได้ชะล่าใจ

หรือนิ่งนอนใจ

ทุกวันนี้

ก็ต้องทำความเพียร

เวียนไปวัด

ตามวัตรปฏิบัติ

ที่เคยทำเสมอมา


พุทธังกุโร
๒๔  ธันวาคม  ๒๕๕๖