การเมตตาตัวเองนั้นสำคัญมาก
บทเมตตาตัวเองนั้น
มีว่า
ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข
ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากทุกข์
ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีเวร
ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่เบียดเบียน ไม่คิดร้าย อาฆาตพยาบาท
ขอให้ข้าพเจ้าไม่มีความทุกข์กายทุกข์ใจ
ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหมดทั้งสิ้น
รวมความก็คือว่า
ถ้าเราเมตตาตัวเองให้มาก ๆ
แผ่เมตตาตนเองมาก ๆ
สำนึกสำเหนียกในบทแผ่เมตตานี้อยู่เสมอ
เราจะอาศัยบทเหล่านี้
เป็นแรงผลักดันให้ถึงนิพพานเสียเลยก็ได้
อย่างไร
ข้อที่ว่า ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากทุกข์ ก็คือ ขอให้ถึงนิพพานนั่นเอง
ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข ก็คือขอให้ถึงนิพพาน
เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีเวร
คืออย่างไร
คือตัวเรานี้ จะเป็นผู้ไม่มีเวรได้ ก็ต้องเลิกเบียดเบียนตัวเองเสียก่อน
การไม่เบียดเบียนตัวเอง ก็คือ ไม่มุ่งไปในทางหลงรักหลงชัง
เดินไปในทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา
การไม่เบียดเบียนตัวเอง อีกข้อก็คือ การไม่ทำร้ายผู้อื่น
เพราะหากเราทำร้ายผู้อื่น ไม่ว่าจะทาง กาย วาจา ใจ ก็ตาม
ผลแห่งการกระทำนั้น ย่อมนำซึ่งเวรมาสู่เราไม่สิ้นสุด
เราทำร้ายเขา เขาก็มาทำร้ายเรา
หากเราละพวกนี้เสีย เราก็พ้นจากทุกข์โดยแท้เทียว
ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่อาฆาตมาดร้าย ไม่พยาบาท
ไม่ชิงชังผู้อื่น อันนี้เป็นการทำให้เราพ้นจากทุกข์
และเป็นสุขทั้งสิ้น
ดังนี้ การแผ่เมตตาตนเอง คือ ความสงบสุขของโลกอย่างแท้จริง
เพราะถ้าเราเมตตาตัวเราเอง
เราก็ไม่ทำร้ายใคร
เมื่อเราไม่ทำร้ายใคร ก็ไม่มีใครทำร้ายเราได้
ยิ่งถ้าทุกคนเมตตาตัวเองให้มาก ๆ
ทุกคนก็จะไม่ทำร้ายกันเลย
ส่วนบทแผ่เมตตาคนอื่นนั้น
เป็นการแผ่ให้บุคคลที่สองและสาม ไม่ให้ทำร้ายกันและกัน
นั่นหมายความว่า
เรามีคุณงามความดี เราสร้างคุณงามความดีให้งอกขึ้นมาในจิตใจ
เป็นจิตใจแห่งความเมตตาแล้ว
เราก็ปรารถนาให้คนอื่นเป็นเช่นนั้นด้วย
ที่เข้าใจผิดกันทุกวันนี้
คือ คิดว่า บทแผ่เมตตาที่ว่า สัพเพสัตตา นั้น
เป็นการแผ่ให้คนอื่นอย่ามาทำร้ายเรา (ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ไม่ถูกนัก)
เป็นความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง
เพราะการที่คนอื่นจะมาทำร้ายเรา
ย่อมหมายความว่า
เราเคยทำร้ายเขามาก่อน พอเขาจะเอาคืน
เรากลับไปบอกว่า อย่ามาเบียดเบียนกันเลย
อย่างนี้ไม่ถูกต้อง
ถ้าเราไม่อยากให้ใครมาทำร้ายเราแล้ว
เราควรแผ่เมตตาตนเองจะดีกว่า
ทำตัวเราให้เป็นไปตามอย่างที่เราอยากให้เป็น
ในบทแผ่เมตตาตนเอง
คือ ทำตัวเราให้เป็นสุข ให้พ้นจากทุกข์
ให้เป็นผู้ไม่มีเวร ให้เป็นผู้ไม่เบียดเบียน ไม่อาฆาตพยาบาท ชิงชัง
ฉะนี้แล้ว แม้คนอื่นจะพยายามทำร้ายเรามากแค่ไหนก็ตาม
เราย่อมไม่เป็นทุกข์เพราะพวกเขาเหล่านั้น
ธรรมะของเราได้คุ้มครองเราแล้ว
ดังคำที่ว่า
ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม
เอวัง
พุทธังกุโร
๒๑ มกราคม ๒๕๕๗