วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ความไม่ยุติธรรม ก็คือ ความยุติธรรมนั่นเอง


 คนเราทุกคนนั้น

มีกรรมเป็นของ ๆ  ตน

เคยปล้น  เคยฆ่าใครไว้

เกิดมาชาตินี้ก็ต้องถูกเขาปล้นเขาฆ่า

หรือดีหน่อยถ้ามีกรรมดีมาตัดรอน

ก็อาจจะเบาลงตามส่วน

แต่จะหนีกรรมไปนั้นไม่ได้


แต่ส่วนมากนั้น  ผู้คนมักไม่ค่อยเชื่อกฎแห่งกรรม

หรือเชื่อก็เพียงเพื่อว่า

อยากให้กฎแห่งกรรมเล่นงานคนอื่น

ที่ตัวเองคิดว่าเขาเป็นคนชั่ว

โดยไม่มองดูตัวเอง

ไม่คิดว่าตัวเองนั้นก็เคยทำชั่วทำดีปะปนกันมา

พอเรื่องไม่ดีเกิดแก่ตัวเอง

ก็โอดครวญ  ร่ำไห้  เป็นทุกข์

ก่นด่า  หาว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรมบ้าง

กฎแห่งกรรมทำงานช้าบ้าง

ทำไมตัวเองเป็นคนดี

หรือคนอื่นที่ตัวเองคิดว่าเป็นคนดี

ไม่ได้ดีบ้าง

ทำไมคนดี ๆ  หรือคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต้องตายบ้าง

หนักเข้าก็จะหาทางไปแก้กรรม

ไปตัดกรรม

หรือไปทำอะไรต่าง ๆ  ที่เขาโฆษณาว่า

จะทำให้ชีวิตมันดีขึ้น

ทำให้ความทุกข์ยากที่ตัวเองเผชิญอยู่นั้น

หายไป

ดีหน่อยก็อาจจะแผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวรของตัวเอง

ทำบุญให้ทานเพื่อหวังจะไถ่บาป

โดยที่ลืมไปว่า

ตอนตัวเองไปทำเขาไว้นั้น

ทำไมไม่เมตตาเขาบ้าง

พอเขาจะเอาคืน  ปากก็บอก

จงเป็นสุข ๆ  เถิด

อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย

เอ้านี่  ฉันแผ่เมตตาให้เธอแล้ว

รับไปสิ

อย่างนี้เป็นต้น

ความจริงต้องนึกถึงใจเขาใจเราบ้าง

ว่า  ถ้าเป็นเรา

เขาทำเราขนาดนั้น

เขาชดใช้ให้เล็ก ๆ  น้อย ๆ  นิด ๆ  หน่อย ๆ  

เราจะพอใจไหม

มันก็ไม่


ใครทำอะไรไว้แล้ว

ต้องรับผลการกระทำของตัวเองไป

ไม่มีคำว่า  ไม่ยุติธรรม

มันยุติธรรมโดยธรรมชาติของมันอย่างนั้น

ซึ่งข้าพเจ้ากล่าวเสมอว่า

ความไม่ยุติธรรม  ก็คือ  ความยุติธรรมนั่นเอง

หมายความว่า

ความไม่ยุติธรรม(ที่เราคิดเอาเองว่าไม่ยุติธรรม)นั้น

มันคือยุติธรรมตามธรรมชาติของมันแล้วนั่นเอง


และถ้าเราอยากให้มันยุติจริง ๆ  

ก็ต้องพิจารณาธรรมที่ทำให้ทุกอย่างยุติ

ธรรมที่ทำให้อะไรต่าง ๆ  มันสงบ

ก็คือ  การให้อภัย  นั่นเอง

การให้อภัย  กับ  สติ  เป็นธรรมอันเดียวกัน

เช่นเดียวกับ  คำว่า  ทางสายกลาง

การทำใจให้เป็นกลาง  หรืออุเบกขา

หรือแม้กระทั่งคำว่า  สงบ  สันติ  หรือนิพพาน

เป็นธรรมตัวเดียวกันในแง่การปฏิบัติ

แต่กิริยาของธรรมแต่ละตัวนั้นต่างกันอยู่บ้าง

ตามสภาพการณ์

แต่โดยหลักใหญ่ใจความคือ  อันเดียวกัน


อาจมีคำกล่าวว่า

ความทุกข์  ความตาย  ความสูญเสีย  นั้น

ไม่เกิดกับใคร  คนนั้นไม่รู้หรอก

อย่าไปพูดว่า  ให้อภัยเถอะ

เพราะถ้ามันไม่เกิดกับมึง  มึงไม่รู้สึกหรอก

หรือ  ให้มันเกิดเรื่องร้าย ๆ  อย่างนี้กับมึงสิ

มึงจะให้อภัยคนที่ทำได้ไหม  ให้มันเกิดกับพ่อมึงแม่มึง

กับครอบครัวมึงสิ

หรืออะไรเทือกนี้

แท้แล้วการให้อภัย  ไม่ว่าจะเกิดกับใคร

ผู้ที่ได้รับผลกรรมนั้น

ก็ต้องให้อภัยทั้งสิ้น

ไม่ให้วันนี้

วันหน้าก็ต้องได้ให้

เพราะถ้าไม่ให้

ก็เป็นเวรต่อกันไม่สิ้นสุด

เกิดตายไม่สิ้นซากเสียที

เป็นทุกข์ไปเรื่อย ๆ  

ดังธรรมะที่ว่า

การเกิดทุกคราเป็นทุกข์ร่ำไป

ทั้งนี้เพราะเราไม่รู้จักการให้อภัยต่อกันและกัน

ถ้าเรารู้ว่ามันเป็นกรรมของเรา

เราเคยทำเอาไว้

เราก็ยอมรับ

และให้อภัย

การยอมรับนี้

มันไม่ได้ใช้กับผลของกรรมชั่วอย่างเดียว

มันใช้กับผลกรรมดีด้วย

เราต้องฝึกให้อภัยในสิ่งดี ๆ  ที่เข้ามาในชีวิตด้วย

แต่การให้อภัยในสิ่งดี ๆ  ที่เข้ามาในชีวิต

เราไม่เรียกว่า  การให้อภัย

แต่เราเรียกว่า  การทำใจให้เป็นอุเบกขา

คือเฉยเสีย  เป็นกลางเสีย

อย่าไปยินดีกับมัน

สรุปง่าย ๆ  ให้ลัดสั้นเข้ามาอีกก็คือ

อย่าไปดีใจ  อย่าไปเสียใจกับอะไรเลย

ให้เดินทางสายกลางเสีย

เพราะการดีใจนั้น  ก็เป็นทางสุดโต่ง

คือ  กามสุขขัลลิกานุโยค

และการเสียใจนั้น  ก็เป็นทางสุดโต่ง

คือ  อัตตกิลมาถานุโยค

เราควรเดินทางสายกลาง

คือความมีสติ  ความเป็นอุเบกขา  ความเป็นกลาง ๆ  

วางใจให้นิ่ง ๆ  ไม่ยินดียินร้าย

อย่างนี้เรียกว่า  ตั้งอยู่ในอริยมรรค

ซึ่งการตั้งอยู่ในอริยมรรคนี้

หากมรรคทั้งแปดรวมลงสามัคคีกันเมื่อไหร่

ก็บรรลุธรรมเมื่อนั้น

เป็นขั้นต่าง ๆ  ตามกำลังของสติปัญญาบารมี



เอวัง


พุทธังกุโร
๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗