วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

"นักปฏิบัติจริงๆแล้วไม่ต้องคบกับใครก็ได้ นอกจากครูบาอาจารย์"


"นักปฏิบัติจริงๆแล้วไม่ต้องคบกับใครก็ได้ นอกจากครูบาอาจารย์"
ถาม : พระที่อยู่ด้านล่าง ท่านสนใจอ่านหนังสือธรรมะด้านปฏิบัติไหมคะ
พระอาจารย์ : ส่วนใหญ่ท่านบวชตามประเพณี มีเป้าหมายต่างกัน เป็นเรื่องนานาจิตตัง เป็นเรื่องของอินทรีย์ ถ้ามีอินทรีย์แก่กล้าก็จะมุ่งไปทางสำนักปฏิบัติ ถ้าอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ก็จะอยู่วัดในเมือง เหมือนรับประทานอาหาร เราเลือกร้านกัน ร้านอาหารมีหลายระดับ ตั้งแต่ริมถนนจนถึงระดับ ๕ ดาวในโรงแรม ๕ ดาว อยู่ที่กำลังทรัพย์ ถ้ามีทรัพย์มากก็คงไม่รับประทานอาหารริมถนน ถ้ามีทรัพย์น้อยก็ต้องกินอาหารข้างถนน มีทรัพย์มากก็ไปกินร้านอาหาร ๕ ดาว ถ้ามีอินทรีย์แก่กล้าก็จะไปกินอาหารของพระอรหันต์ เป็นเหมือนบัว ๔ เหล่า สะสมบุญบารมีมาไม่เท่ากัน พัฒนาจิตใจมาไม่เท่ากัน ไม่อย่างนั้นคนที่เกิดในสมัยพระพุทธเจ้า ก็ต้องบรรลุเป็นพระอรหันต์กันหมด เพราะมีพระพุทธเจ้ามีพระอรหันต์อบรมสั่งสอน พระที่บวชอยู่ในสมัยนั้นก็ไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์กันทุกรูป เพราะมีอินทรีย์ที่ไม่เท่ากัน
เรื่องเหล่านี้ไม่ควรไปสนใจมาก ควรสนใจอินทรีย์ของเราดีกว่า อินทรีย์เรามีขนาดไหน เพิ่มขึ้นได้หรือเปล่า ทำให้มากกว่านี้ได้หรือเปล่า มัวแต่ไปสนใจเรื่องของคนอื่น ลืมดูเรื่องของตัวเอง อย่าไปมองคนอื่นมากเกินไป ถ้ามองก็มองให้เป็นธรรม คือมองเพื่อเปรียบเทียบ ว่าเขาเก่งกว่าเราหรือด้อยกว่าเรา ถ้าเขาเก่งกว่าเราๆก็ต้องพยายามผลักตัวเราให้เก่งเท่ากับเขาให้ได้ ถ้าเขาด้อยกว่าเราก็อย่าลดตัวเราให้ด้อยเท่ากับเขา ต้องระมัดระวัง เพราะยังอยู่ในฐานะที่เจริญและเสื่อมได้ ยังไม่ถึงจุดที่ไม่เสื่อม ถ้าไม่ระวังถ้าประมาทก็จะเสื่อมลงได้ ถ้าไปคบค้าสมาคมกับคนที่มีอินทรีย์ที่ต่ำกว่า จะถูกเขาชวนไปในทางของเขา ลงมันง่ายกว่าขึ้น ขึ้นมันยากกว่าลง เวลาลงมันง่าย ชวนไปเที่ยวมันง่าย ชวนไปวัดไปปฏิบัติธรรมมันยาก ต้องคบคนที่ชอบไปวัดปฏิบัติธรรม เขาจะคอยชวนเราไปเรื่อยๆ อย่าไปคบกับคนที่ชอบเที่ยว เขาจะชวนเราไปเที่ยว
ท่านสอนว่า อเสวนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวนา เอตัมมังคะละมุตตะมัง การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต เป็นมงคลอย่างยิ่ง คนพาลคือคนที่มีอินทรีย์ต่ำกว่าเรา เรียกว่าคนพาลได้ บัณฑิตคือคนที่มีอินทรีย์สูงกว่าเรา อินทรีย์คือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา ถ้ามีมากกว่าเรา เขาจะชวนให้เราไปเติมให้มากขึ้น ถ้ามีน้อยกว่าเขาจะชวนให้เราลดน้อยลงไป จะได้อยู่ในระดับเดียวกับเขา เช่นเขานั่งสมาธิได้วันละชั่วโมง เรานั่งได้ ๒ ชั่วโมง เขาก็จะชวนให้เรานั่งวันละชั่วโมง ต้องสังเกตคนที่เราคบค้าสมาคมด้วย เขามีอิทธิพลต่อการประพฤติของเรา อย่างเข้าหาครูบาอาจารย์นี้ท่านจะคุยแต่เรื่องธรรมะตลอด คุยแต่เรื่องปฏิบัติตัดกิเลส ท่านไม่คุยเรื่องอื่น ถ้าไปคุยกับคนอื่น ก็จะคุยเรื่องที่เที่ยว เรื่องสถานที่รับประทาน ที่ไหนอร่อย ที่ไหนไม่อร่อย ถ้าเรามีอินทรีย์สูงกว่าเขา ถ้าเขาชวนไปเที่ยว เราจะไม่ยินดีถ้าเราชอบไปวัด เราจะคบกับคนที่ชอบไปวัด หรือไม่ต้องคบกับใครเลย
นักปฏิบัติจริงๆแล้วไม่ต้องคบกับใครก็ได้ นอกจากครูบาอาจารย์ ที่เราต้องพึ่งพาอาศัย ให้การอบรมสั่งสอน ให้ความรู้ พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า ถ้าไม่สามารถคบคนที่เก่งกว่าเราหรือเท่าเราได้ ก็ให้อยู่คนเดียวดีกว่า อย่าไปคบกับคนที่ด้อยกว่าเรา เพราะจะฉุดเราลงต่ำ การอยู่คนเดียวไม่เป็นการเห็นแก่ตัว เป็นการปลีกวิเวก เป็นปัจจัยสำคัญต่อการปฏิบัติ ต่อการเจริญก้าวหน้าในทางปฏิบัติ ถ้ามีโอกาสที่จะปลีกวิเวกได้ก็ไปเลย อย่าคิดว่าเห็นแก่ตัว ถ้าเราทำภาระหน้าที่ของเราเรียบร้อยแล้ว มีเวลาว่างที่จะปลีกตัวได้ก็ปลีกไป เช่นเวลาอยู่ในวัดมีภารกิจต้องทำร่วมกัน ก็ต้องทำร่วมกัน ปัดกวาดร่วมกัน บิณฑบาตก็ทำร่วมกัน พอไม่มีกิจที่ต้องทำร่วมกัน ก็ปลีกตัวไปอยู่ที่ของตน ไปนั่งสมาธิ ไปเดินจงกรม.
กัณฑ์ที่ ๔๑๒ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ (จุลธรรมนำใจ เล่มที่ ๒๑)
“ใจเป็นตัววัดผล”
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต